วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann)

                 
  จอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann)


จอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann) [1903-1957] เป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ เป็นผู้พัฒนาความรู้ต่างๆ ที่สำคัญในหลายสาขาวิชาทั้งคณิตศาสตร์ กลศาสตร์ควอนตัม วิทยาการคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ เขาถือว่าเป็นหนึ่งในนักคณิตศาสตร์ที่ยอดเยียมที่สุดในยุคใหม่ ถึงกับมีคนกล่าวชมเขาว่า “สมองของนอยมันน์นั้นเป็นมันสมองของเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา”
นอยมันน์นับเป็นบุคคลที่ฉลาดล้ำลึก และความจำที่เป็นเลิศเกือบจะเรียกได้ว่า จำได้ทุกอย่างในระดับรายละเอียดเลยก็ว่าได้ แต่แม้ว่าเขาจะเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ แต่กลับเป็นคนไม่เก็บตัว ชอบเข้าสังคม  ดื่มเหล้า เต้นรำ เป็นคนสนุกสนาน และตลกขบขัน

ประวัติโดยย่อ

เขาเกิดที่เมืองบูดาเปส เมืองหลวงของประเทศฮังการี ครอบครัวของเขาเป็นชาวยิวที่ค่อนข้างร่ำรวย  บิดาจบปริญญาเอกด้านกฎหมายและทำงานเป็นนักกฎหมายให้กับธนาคาร ในตอนนั้นบูดาเปสถือเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้านทุนทางปัญญาและมีระบบการศึกษาที่ดีมาก นอยมันน์ได้แสดงให้ผู้อื่นเห็นถึงอัจฉริยภาพใน 3 ด้าน คือ ภาษา ความจำ และคณิตศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น เขาสามารถทำการหารเลข 8 หลักในใจได้ด้วยอายุเพียง 6 ปี และเมื่ออายุได้ 8 ปี เขาก็ใช้แคลคูลัสได้เป็นอย่างดี !! (คิดดูว่าตอนคุณ 8 ขวบ คุณทำอะไรได้บ้าง) และไม่ใช่แค่ด้านตัวเลขและตรรกกะต่างๆ เท่านั้น เค้ายังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เป็นเล่มๆ และสามารถจำได้อย่างแม่นยำ
แม้ครอบครัวของเขาจะสนับสนุนในสิ่งที่เขาชื่นชอบทุกๆ ด้าน แต่ก็ไม่ได้ผลักดันเขาจนมากเกินไปเหมือนครอบครัวเด็กอัจฉริยะคนอื่นๆ นี่เองทำให้นอยมันน์นอกจากจะมีสติปัญญาอันชาญฉลาดแล้ว ยังมีบุคลิกภาพที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่นด้วย
เขาได้เข้าเรียนในโรงแรียนที่บูดาเปส เพราะพ่อของเขายืนยันให้เข้าเรียนในระดับที่เหมาะกับอายุของตัวเอง แต่ทว่าพ่อก็ยอมจ้างครูพิเศษส่วนตัวมาสอนเขาในด้านที่เขามีความถนัดเพิ่มเติม เมื่ออายุได้ 15 ปี เขาได้เริ่มเรียนวิชาแคลคูลัสขั้นสูงกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และเมื่ออาจารย์ได้พบกับนอยมันน์ก็ได้ตกตะลึงกับอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ของเขาจนถึงกับน้ำตาไหลด้วยความตื้นตันใจ
เมื่ออายุ 18 ปี นอยมันน์ก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินในสาขาวิชาเคมี และได้ย้ายไปเรียนอนุปริญญาด้านวิศวกรรมเคมีจากสถาบันในซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากตอนนั้นสาขาวิชาเคมีกำลังเป็นที่นิยม พ่อของเขาเองจึงอยากให้เขามีชีวิตที่ดีด้วยการเรียนสายนี้ มากกว่าคณิตศาสตร์ที่ไม่น่าจะทำให้ชีวิตสะดวกสบายได้ แต่ในที่สุดนอยมันน์ก็กลับมาหาในสิ่งที่เขารัก เขาได้เลือกปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยบูดาเปส ประเทศฮังการี ควบคู่ไปกับการเรียนวิศวกรรมเคมี และเรียนจบทั้ง 2 ปริญญาด้วยอายุเพียง 23 ปี
ในช่วงนี้เขาได้พัฒนาองค์ความรู้และทฤษฎีใหม่ๆ ให้กับสาขาวิชากลศาสตร์ควอนตัมมากมาย ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับธรรมชาติของอนุภาคระดับอะตอมซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีฟิสิกส์ทั่วไปที่ไอแซค นิวตันคิดเอาไว้ โดยในช่วงนั้นมีทฤษฎีที่ถกเถียงกันอยู่ 2 แนวทาง แต่แล้วนอยมันน์ก็สามารถสรุปเอา 2 ทฤษฎีเข้าด้วยกันได้ ทำให้มันสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมากในอนาคต
ระหว่างปี ค.ศ. 1926 ถึง 1930 หลังจากที่เขาได้พัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมได้แล้ว เขาก็ต้องเดินทางไปสัมนาเชิงวิชาการ และได้ตีพิมพ์เอกสารวิชาการออกมาอย่างมากมาย ด้วยความเร็วเกือบเดือนละฉบับได้ ซึ่งเป็นผลมาจากพลังแห่งความรวดเร็วและความจำอันเหลือเชื่อของเขา ที่ทำให้เขาสามารถดึงข้อมูลจำนวนมหาศาลออกมาใช้ได้อย่างง่ายดาย เขาได้กลายเป็นดาวรุ่งแห่งวงการนักวิชาการ แต่ก็เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปเพราะเขามักจะมีเรื่องตลก หรือเรื่องราวน่าสนใจจากประวัติศาสตร์มาเล่าให้ผู้อื่นฟังอย่างสนุกสนาน
ในปี ค.ศ. 1930 นอยมันน์ได้รับเชิญให้ไปยังเมืองพรินซ์ตัน, นิวเจอร์ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ถูกคัดเลือกเพื่อเป็นอาจารย์ประจำชุดแรกของ Institute for Advanced Study ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคัดเลือกเอาบุคคลเก่งๆ มารวมกัน อย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ เป็นต้น โดยนอยมันน์เป็นศาสตราจารย์คณิตศาสตร์ของที่นั่น ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสาขาวิชาในปี ค.ศ. 1933 และได้กลายเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาในที่สุด



จอห์น ฟอน นอยมันน์ (John von Neumann)
แหล่งที่มา http://www.siraekabut.com/2012/05/career-003-neumann-math/
จัดทำโดย  1 .นายชนวิทย์ จูมแพง    ชั้น ม.6/4 เลขที่ 30
              2. นายลัญจกร น้อยใหญ่  ชั้น ม.6/4 เลขที่ 40